วันอาทิตย์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2551

ชนิดของเครื่องมือทำการประมง8




ชื่อไทย : เรือผีหลอก
ชื่ออังกฤษ : Simple Catching Boat
ลักษณะ : ท้องเรือค่อนข้างแบน และกราบเรือเมื่อลอยอยู่ในน้ำจะสูงจากระดับน้ำ ไม่มากนัก กราบเรือด้านหนึ่งติดแผ่นกระดานทาสีขาวและวางให้เอียงลาดลงน้ำ อีกด้านหนึ่งของกราบเรือนั้นขึงตาข่าย เป็นแนวยาวตลอดลำเรือและให้ขอบสูงจากกราบเรือประมาณ 1 เมตร ใช้เป็นเรือประมงน้ำจืดตามแม่น้ำลำคลอง
วิธีใช้เรือชนิดนี้ หาปลา คือ พายเรือออกหาปลาในเวลากลางคืน เมื่อปลาเห็นแผ่นกระดานสีขาวท่ามกลางความมืดปลาจะตกใจกระโดดข้าม แต่ก็ไม่พ้นเพราะถูกตาข่ายกั้นไว้ปลาจะตกลงไปในท้องเรือ นับเป็นวิธีหาปลาง่าย ๆ วิธีหนึ่ง และที่เรียกว่าเรือผีหลอกนั้นเป็นเพราะ ส่วนหนึ่งของเรือทาสีขาวโพลน แล่นในเวลากลางคืน และสามารถหลอกปลาให้ตกใจกระโดดลงไปในเรือได้ พื้นที่ที่ยังเห็น
ชนิดของสัตว์น้ำที่หาได้ : ปลาผิวน้ำทั่ว ๆ ไป
แหล่งทำการประมง : ในแม่น้ำลำคลองเวลากลางคืน


ชื่อไทย : ข่าย
ชื่ออังกฤษ : Set Gill Net
ลักษณะ : เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ค่อนข้างยาวจาก 80-100 เมตร ลึก 2-3 เมตร มีขนาดตาใหญ่ 5-8 ซม. ตอนเชือกคร่าวบนนั้นโดยมากใช้ผักตบชวาทำเป็นทุ่นพยุงให้ลอยอยู่ได้ ส่วนทางด้านล่างนั้นบางแห่งก็ใช้ตะกั่วหรือบางแห่งก็ไม่ใช้
วิธีการใช้งาน ใช้ปักขึงหัวท้ายในสถานที่ซึ่งไม่มีเรือสันจรไปมาตามหนองบึง เมื่อปลาว่ายน้ำมากระทบก็จะติดอวน
ชนิดของสัตว์น้ำที่จับได้ : ปลาตะเพียน ปลานวลจันทร์ ปลากระสูบ ปลาตะโกก ฯลฯ
แหล่งทำการประมง : ริมแม่น้ำ

ชื่อไทย : เฝือก
ชื่ออังกฤษ : Bamboo Screen
ลักษณะ : เป็นเครื่องจักรสานชนิดหนึ่ง ใช้ทำด้วยไม้ไผ่ผ่าเหลาเป็นซีกขนาดใหญ่เท่ากับก้านตับจากมุงหลังคาหรือใหญ่กว่านี้เล็กน้อย แล้วยกหรือกรองด้วยหวายเป็นแผง ๆ แผงหนึ่งตามปกติยาวประมาณ 8-10 เมตร ขนาดสูงของเฝือกนั้นสุดแท้แต่ผู้ที่ต้องการใช้ในสถานที่น้ำลึกเท่าใด ถ้าใช้ในสถานที่น้ำลึกมากก็ใช้ขนาดสูงมาก ในสถานตื้นก็ต่ำลงมาตามส่วน
ชนิดของสัตว์น้ำที่จับได้ : ปลากระบอก กุ้ง ปลากะพง
แหล่งทำการประมง : บริเวณชายฝั่งทะเลที่มีน้ำขึ้นน้ำลง


ชื่อไทย : ช้อนสนั่น
ชื่ออังกฤษ : Boat Dip Net
ลักษณะ : ถักด้วยด้ายเป็นตาข่ายขนาดตา 4 ซม.ผืนตาข่ายเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ก้นถุงลึก 4.50 เมตร ใช้ติดกับหัวเรือมีไม้รองรับคันช้อนเพื่อช่วยกำลังให้เบาลง ในขณะที่งัดช้อนขึ้นจากน้ำ ปากช้อนกว้าง 7-8 เมตร ขอบช้อนเหนือมีด้ามยาวประมาณ 6 เมตร ขนาดของช่องตาข่ายของช้อนนั้น 1.50 ซม.
วิธีใช้เครื่องมือ : ใช้เรือ 1 ลำ ชาวประมง 2 คน คนหนึ่งทำการพายเรือทางท้ายทวนกระแสน้ำไปเรื่อย ๆ ส่วนคนที่อยู่หัวเรือก็ต้องยกขึ้นหรือลงจากน้ำต้องใช้กำลังน้ำหนักของตัวคนโหนช้อนขึ้นมาจากน้ำ
ชนิดของสัตว์น้ำที่จับได้ : ตะเพียน ปลากา ปลากด และปลาที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำบริเวณที่ไปหาปลา
แหล่งทำการประมง : แหล่งน้ำทั่ว ๆ ไป


ชื่อไทย : ช้อนหางเหยี่ยว

ชื่ออังกฤษ : Raft Dip Net
ลักษณะ : คล้ายกับช้อนสนั่น แต่เครื่องมือนี้ใช้แพเป็นพาหนะ
ชนิดของสัตว์น้ำที่จับได้ : ตะเพียน ปลากา ปลากด และปลาที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำบริเวณที่ไปหาปลา
แหล่งทำการประมง : แหล่งน้ำทั่ว ๆ ไป


ชื่อไทย : ถุงบาม
ชื่ออังกฤษ : Big Lift Net
ลักษณะ : คล้ายยอขนาดใหญ่ แต่ไม่มีคันยอ และปูผืนอวนไว้ที่พื้นทะเล รอเวลาให้ปลากระบอกเข้ามาบริเวณศูนย์กลางของผืนอวน แล้วยกขอบอวนทั้ง 4 ด้าน ให้พ้นผิวน้ำ จำนวนคนที่ใช้ขึ้นอยู่กับลักษณะทางเครื่องมือ
บามจะมี 2 แบบ คือ แบบมีถุง และไม่มีถุง บามที่ใช้ในทะเลสาบสงขลาเป็นบามแบบไม่มีถุง
ชนิดของสัตว์น้ำที่จับได้ : ปลากระบอก
แหล่งทำการประมง : บริเวณริมฝั่ง ห่างฝั่ง 10 - 50 ม น้ำลึก 1.50 - 3 .00ม


ชื่อไทย : ถุงโพงพาง

ชื่ออังกฤษ : Set Bag Net
ลักษณะ : เป็นเครื่องมือประมงที่ใช้อวนรูปถุง ปากอวนติดตั้งให้การรับสัตว์น้ำที่พัดตามกระแสน้ำเข้าถุงอวน โพงพางหลักเป็นโพงพางที่พบมากที่สุด อวนเป็นรูปถุงปากกว้าง ปากอวนสูงใกล้เคียงกับความลึกของน้ำช่วงขึ้นสูงสุดขนาดประมาณ 4x4 หรือ 8x6 เมตร ความยาวจากปากอวนถึงก้นถุง 20 - 25 เมตร ตัวอวนจะเรียวเล็กลงปากอวนจะวางในทิศทางหันรับกับกระแสน้ำ มักห่างกันตามขนาดปากอวน ราว 4-8 เมตร ด้านบนมีไม้คาดไว้กันไม้หลักเอนเข้าหากัน ปากอวนจะมัดกับเสาหลัก ส่วนตัวอวนจะกดไว้ด้วยไม้กด โดยไม่ใช้ทุ่นและตะกั่วถ่วง ส่วนเนื้ออวนเป็นโพลีเอทธีลีน ที่บริเวณปากจะมีขนาดใหญ่ที่สุด แล้วเล็กลงมาตามลำดับ ส่วนที่เป็นก้นถุงยาว 1.5 - 3 เมตร มักใช้ขนาดตา 1.5 - 2.5 เซนติเมตร ปลายถุงสามารถเปิดออกได้โดยมัดเชือกไว้
การวางโพงพางจะทำหลายช่องเรียงกันเป็นแถวประมาณ 6 -10 ช่อง ทำได้ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน ในช่วงน้ำขึ้นเต็มที่หรือลงเต็มที่โดยประกอบอวนเข้ากับไม้กดอวน แล้วนำไปผูกกับไม้หลัก แล้วจอดเรือไม้ที่ตำแหน่งก้นถุง รอให้กระแสน้ำพัดสัตว์น้ำเข้าอวนสักพักขึงกู้ก้นอวนขึ้นมา เทสัตว์น้ำออก แล้วมัดก้นถุงวางใหม่ต่อไป โพงพางจะใช้ที่ระดับน้ำลึกประมาณ 1 -6 เมตร และสามารถทำได้ตลอดทั้งปี
ชนิดของสัตว์น้ำที่จับได้ : กุ้ง ปู และปลาที่ชอบอยู่ในเขตน้ำกร่อย
แหล่งทำการประมง : บริเวณชายฝั่งทะเลที่มีน้ำขึ้นน้ำลง



ช้อนต่างๆปากกว้าง ตั้งแต่ 3.5 เมตรขึ้นไป

ชื่อไทย : ช้อนขาคีบ
ชื่ออังกฤษ : Boat Dip Net
ลักษณะ : เครื่องมือชนิดนี้ถักด้ายเป็นตาข่าย ขนาดตา 4 ซม. ผืนผ้าเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว ก้นถุงลึก 4.50 เมตร ผูกไขว่กันระหว่างกึ่งกลางเป็นรูปกรรไกรแล้วผูกขึงผืนตาข่ายติดกับไม้ด้านหนึ่ง ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นที่สำหรับถือ
ชนิดของสัตว์น้ำที่จับได้ : ตะเพียน ปลากา ปลากด และปลาที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำบริเวณที่ไปหาปลา
แหล่งทำการประมง : แหล่งน้ำทั่ว ๆ ไป


ชื่อไทย : ช้อนคอก
ชื่ออังกฤษ : Boat Dip Net
ลักษณะ : เป็นเครื่องมือประเภทตาข่าย มีรูปเป็นถุง ปากถุงใช้ไม้ทำเป็นขอบสี่เหลี่ยมและมีเชือกผูกทั้งสี่มุม กรอบด้านกว้างประมาณ 2 เมตร ด้านยาว 4 เมตร ก้นถุงลึก 6 เมตร ขนาดของตาอวน 4 ซม.
ชนิดของสัตว์น้ำที่จับได้ : ส่วนใหญ่จะจับได้กุ้ง
แหล่งทำการประมง : แหล่งน้ำทั่ว ๆ ไป


ชื่อไทย : ช้อนปีก
ชื่ออังกฤษ : Winged Bamboo Trap
ลักษณะ : คล้ายช้อนขนาดใหญ่นำมากางรอตอนหัวปีกบรรจบกัน และมีไม้พยุงข้างละ 1 อัน ตอนกลางของไม้นั้นผูกกับเสาข้างละต้น เพื่อให้เครื่องมือกระดกขึ้นลงได้โดยสะดวกเมื่อได้รับแรงกด
แหล่งทำการประมง : ชายทะเลที่อยู่ใกล้กับปากแม่น้ำ ในสถานที่ซึ่งมีกระแสน้ำไหลแรง และในท้องที่ความลึกของน้ำไม่เกิน 5 เมตร


ชื่อไทย : ช้อนลาก
ชื่ออังกฤษ : Beach Dip Net
ลักษณะ : มีรูปคล้ายเปลญวน ขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 10 เมตร ก้นถุงช้อนลึก 1.5 เมตร ขนาดตาช่อง 3.5 ซม. ขอบช้อนด้านกว้างมีไม้ผูกติดสำหรับเอาเชือกผูกติดในขณะที่ทำการลากช้อนสัตว์น้ำ
วิธีการใช้เครื่องมือนั้นใช้คน 3-4 คน ลากช้อนเข้าหาตลิ่ง
ชนิดของสัตว์น้ำที่จับได้ : ปลาดุก ปลากด ปลาตะเพียน
แหล่งทำการประมง : บริเวณริมตลิ่ง



เบ็ดราว ยาวตั้งแต่ 40 เมตรขึ้นไป


ชื่อไทย : เบ็ดราว

ชื่ออังกฤษ : Baited Set Line

ลักษณะ : เครื่องมือชนิดนี้ประกอบด้วยเส้นเชือกหรือสายลวดทำเป็นสายคร่าวเบ็ด ยาวตามความต้องการ ที่พบในน่านน้ำจืดนั้นมีความยาวประมาณ 100-200 เมตร ถ้าใช้ในน่านน้ำเค็มแล้วยาวถึง 1000 เมตรหรือมากกว่านั้นก็มี เขาใช้เบ็ดเบอร์ 4-8 หรือเล็กกว่านี้ก็ได้สุดแท้แต่ว่าจะจับปลาชนิดใด ผูกตัวเบ็ดสายทิ้งยาวประมาณ 20-40 ซม. ตามจำนวนตัวเบ็ดที่ต้องการ แล้วทำการผูกกับสายคร่าวเบ็ดเป็นระยะห่าง 40-50 ซม. อีกทีหนึ่ง

ชนิดของสัตว์น้ำที่จับได้ : ปลาน้ำจืด ปลาชะโด ปลาสวาย ปลาเทโพ ปลาเค้า ปลากราย
ปลาทะเล ปลาฉลาม กะเบน ฉนาก ปลาหางกิ่ว

แหล่งทำการประมง : บริเวณที่ขวางทางกระแสน้ำของหนอง บึง แม่น้ำ ลำคลองหรือทะเล

ชนิดของเบ็ดราวยาวตั้งแต่ 40 เมตรขึ้นไป
- เบ็ดราวน้ำตื้น
- เบ็ดราวปลากุเรา
- เบ็ดราวปลาฉลาม
- เบ็ดราวปลาทูน่า
- เบ็ดราวปลาริวกิว
- เบ็ดราวหน้าดิน


แหยาวตั้งแต่ 4 เมตรขึ้นไป


ชื่อไทย : แห

ชื่ออังกฤษ : Cast Net

ลักษณะ : เป็นเครื่องมือในการครอบจับสัตว์น้ำชนิดหนึ่ง แหทุกชนิดมีลักษณะเหมือนกัน เมื่อแผ่ออกจะเป็นรูปวงกลม ขอบตีนแหจะมีโซ่ทำด้วยเหล็กหรือตะกั่วขนาดความหนา 2 มม. เพื่อใช้ถ่วงแกให้จมตัวได้เร็ว วิธีการผูกโซ่ที่ตีนแห มีทั้งแบบที่เรียกว่า ทบเพลา และแบบไม่ทบเพลา การผูกแบบทบเพลาจะทำให้ตีนแหเป็นกระเปาะเล็ก ๆ ตามแนวตีนแหทำให้สัตว์น้ำหลุดจากตีนแหได้ยกเว้น ขณะฉุดแหขึ้นมา ขนาดของแหเส้นรอบวง 10 - 28 ม. ขนาดตาอวนขึ้นอยู่กับสัตว์น้ำเป้าหมาย ถ้าเป็นแหกุ้ง จะมีขนาดตา 20 - 25 มม. แหปลากระบอกใช้ขนาดตา 30 - 35 มม. และแหหมึกจะมีขนาด 25 - 30 มม. ความสูงหรือรัศมีของแหขนาดเล็กทั่วไป ประมาณ 1.70 - 4.50 ม. โดยแหหมึกจะมีขนาดใหญ่สุด ในการทำการประมง แหปลากระบอกและแหกุ้ง ส่วนใหญ่ใช้ในเวลากลางวัน เพราะมองเห็นสัตว์น้ำได้ง่าย

ชนิดของสัตว์น้ำที่จับได้ : ปลากระบอก กุ้ง ปลาหมึก แล้วแต่ชนิดของแห

แหล่งทำการประมง : แหล่งประมงน้ำลึก .50 - 1.50 ม. ซึ่งอยู่ติดริมคลอง ชายหาดทราย หรือท่าเทียบเรือ โดยเดินหาฝูงปลากระบอกให้พบก่อนจึงเหวี่ยงแหลงไปครอบ การทอดแหรับกุ้งบางครั้งต้องทอดแบบเดาสุ่มส่วนการใช้แหหมึกทำการประมงเฉพาะคืนเดียวเดือนมืด ในบริเวณน้ำลึก 6 - 10 ม. ส่วนใหญ่ทอดสมอเรือ 2 ตัวยึดหัวเรือ และท้ายเรือ แล้วเปิดไฟล่อรอเวลาให้หมึกมาตอมแสงไฟ

ไม่มีความคิดเห็น: