วันพุธที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2551

ชนิดของเครื่องมือทำการประมง3

อวนลาก (TRAWLS)
อวนลากหมายถึงเครื่องมือประมงที่มีลักษณะรูปร่างคล้ายถุงวิธีการใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำโดย การใช้เรือลากจูงอวนให้เคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง
อวนลากแบ่งได้ 4 ประเภท คือ





ชื่อไทย : อวนลากเดี่ยว หรืออวนลาก
ชื่ออังกฤษ : OTTER - BOARD TRAWLS
ลักษณะ : เหมือนกับเครื่องมืออวนลากเรือสองลำหรือเรือลากคู่ คือเป็นอวนมีถุงประกอบกัน ใช้เรือยนต์เพียงลำเดียวทำการลากสัตว์น้ำในระดับต่างๆ ได้ผลดี อวนจะกางออกกวาดสัตว์น้ำ โดยมีแผ่นกระดานน้ำซึ่งเรียกว่า แผ่นตะเฆ่ ทำหน้าที่ให้ปากอวนขยายออกไป
วิธีการใช้เครื่องมือ : เรือชนิดนี้สามารถทำการประมงได้ตลอดทั้งปี ทำได้ทั้งกลางวัน กลางคืน นิยมลากตามน้ำและทวนน้ำ ชาวประมงจะนำอวนลากแผ่นตะเฆ่ไว้ท้ายเรือ เมื่อถึงแหล่งทำการประมงก็จะปล่อยอวนลงน้ำพร้อมทั้งแผ่นตะเฆ่ไว้ท้ายเรือโดยบังคับให้เรือเดินหน้าเบาๆ จากนั้นค่อยๆ ผ่อนสายลากลงน้ำไปเรื่อยๆ แผ่นตะเฆ่จะต้านน้ำซึ่งทำให้อวนกางออกรับเนื้อที่จับปลาได้มากขึ้น การปล่อยอวนจะมีหัวหน้าชาวประมงที่เรียกว่า "คนนำลาก" เป็นคนควบคุม เมื่อปล่อยสายลากประมาณ 3 - 5 เท่าความลึกของน้ำ เมื่อปล่อยสายลากจนได้ระยะตามต้องการแล้วก็จะบังคับให้เรือเร่งเครื่องยนต์เดินหน้า ลากอวนไปประมาณ 2 - 3 ชั่วโมง ก็จะทำการกว้านอวนขึ้นเรือด้วยเครื่องกว้านเครื่องยนต์ โดยบังคับให้เรือเดินหน้าเบาๆ เพื่อทำการจับสัตว์น้ำที่ตกขังอยู่ที่ก้นถุง
ชนิดของสัตว์น้ำที่จับได้ : แบ่งออกเป็น 2 พวกใหญ่ๆ คือ
(1) ปลาเลยหมายถึงสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ปลาทรายแดง ปลาสาก ปลาปากคม ปลาตาโต ปลากะพง ปลาจาระเม็ด กุ้ง และหมึกต่างๆ ฯลฯ
(2) ปลาเป็ดหมายถึงสัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจน้อยไม่ใช้บริโภค ได้แก่ ปลาแป้น ปลาอมไข่ ปลาวัว ปลาสลิดหิน และปลาต่างๆ ที่มีขนาดเล็ก
แหล่งทำการประมง : บริเวณพื้นทะเลหรือเหนือพื้นทะเล






ชื่อไทย : อวนลากคู่
ชื่ออังกฤษ : PAIR TRAWLS NET
ลักษณะ : ของเครื่องมือนั้นเป็นอวนมีถุงกับปีกประกอบกัน ขนาดของตาอวนนั้นถี่ ปีกนั้นทำหน้าที่กันสัตว์น้ำให้ลงสู่ตัวอวน ถุงทำหน้าที่จับสัตว์น้ำ ใช้ทำการลากจับสัตว์น้ำ หน้าดินด้วยเรือยนต์ 2 ลำ ขนาดเท่ากัน แต่ละลำตอนหัวเรือมีเครื่องกว้านสำหรับดึงและยกอวน และใช้เป็นที่เก็บสายลากอีกด้วย มีห้องเก็บปลาประมาณ 5 - 6 ห้อง ตอนกลางลำเรือมีเครื่องกว้านรูปทรงกระบอกสั้นเว้า ติดอยู่ 2 ข้างลำเรือ ใช้กำลังหมุนจากเครื่องจักรใหญ่ ส่วนตอนท้ายเรือทำเป็นลานเรียบออกไปเล็กน้อย และมีรอกรองรับสายลวดติดอยู่ทั้งสองข้าง สำหรับเรือบางลำที่มีขนาดเล็กบนหลังคาท้ายเรือก็จะมีเครื่องกว้านติดอยู่ ใช้ซ่อมดึงและเก็บอวน ใช้ชาวประมงลำละ 6 - 7 คน คนเรือ 3 คน
วิธีใช้เครื่องมือ : พื้นที่ท้องทะเลเป็นโคลนเหลวหรือโคลนเหลวปนทราย ทำการประมงได้ ตลอดปีเครื่องมืออวนลากคู่นิยมใช้ทำการประมงในเวลากลางวัน นิยมลากตามน้ำหรือลากทวนน้ำ เมื่อถึงที่ๆ ต้องการทำการประมงแล้ว จะปล่อยอวนลากลงจากลำใดลำหนึ่งแล้วทำการปล่อยเชือกนั้น มีความยาวสุดแท้แต่ความลึก ของน้ำ ส่วนเรือทั้งสองลำจะแยกออกจากกันให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ปีกอวนกางขยายออกให้มากซึ่งปีกนั้นจะทำหน้าที่กางกั้นปลาให้วิ่งเข้าสู่ตัวอวน ทุ่นที่ผูกติดอยู่ข้างบนจะทำให้อวนส่วนบนลอยน้ำ ทำให้อวนกางออก เป็นรูปถุงปากกว้างกวาดจับปลาที่อาศัยอยู่ก้นทะเล เมื่อปล่อยสายลากไปได้สักระยะหนึ่งตามต้องการแล้ว ก็บังคับให้เรือเร่งเครื่องยนต์เดินหน้าลากอวนไป เมื่อลากอวนไปประมาณ 3 - 4 ชั่วโมงแล้ว ก็กว้านอวนขึ้นด้วย เครื่องกว้านเครื่องยนต์ โดยจะบังคับให้เรือเดินหน้าหมดและหันเรือเข้าหากัน เมื่อกว้านจนถึงปลายเรือทั้งสองลำก็จะมาบรรจบกันพอดี หลังจากนั้นจึงยกก้นถุงอวนขึ้นมาบนเรือด้วยเครื่องกว้านหัวเรือนำสัตว์น้ำที่ได้ออก จากถุง
ชนิดของสัตว์น้ำที่จับได้ : แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
(1) ปลาเลย หมายถึง สัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจได้แก่หมึก ปลาทรายแดง ปลาสาก ปลาปากคม ปลากดทะเล ปลาจะละเม็ด ปลาลิ้นหมา ปลากด ปลาริวกิว ปลากะพง และกุ้งเป็นต้น
(2) ปลาเป็ด หมายถึง สัตว์น้ำที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจน้อยได้แก่ ปลาอมไข่ ปลาแป้น และลูกปลาเศรษฐกิจขนาดเล็ก เป็นต้น
แหล่งทำการประมง : บริเวณชายฝั่งทะเลทั่วไป ความลึก 10 - 50 เมตร





ชื่อไทย : อวนลากคานถ่าง

ชื่ออังกฤษ : BEAM TRAWLS

ลักษณะ : เหมือนกับอวนลากเดียวทั่วๆ ไป แต่เรือที่ใช้มีขนาดเล็กเป็นเรือหางยาวเครื่องยนต์ประมาณ 8 - 10 แรงม้า ขนาดของปากอวนกว้างประมาณ 3.50 - 4.00 เมตร ยาว 5.00 เมตร ขนาดของตาอวนก้นถุง (ตาเหยียด) 1.6 เซนติเมตร จำนวน 2 ปาก แต่ละปากมีตุ้มถ่วงน้ำหนักทำจากซีเมนต์หล่อขนาด 15 - 18 กิโลกรัม ปากละ 2 ลูก เพื่อช่วยให้อวนจม ตอนปลายของปากอวนจะมีสกีไม้ความยาว 10 นิ้ว ผูกติดอยู่เพื่อให้ความ สูงของปากอวนอยู่ในระดับคงที่ ตอนคร่าวล่างของอวนจะถ่วงด้วยตะกั่วตลอดแนวเพื่อให้อวนจม ความกว้างของปากอวนแต่ละปากจะถูกถ่วงด้วยแป๊ปน้ำความยาวประมาณ 1.2 เมตร ซึ่งแป๊ปน้ำนี้จะผูกยึดกับคานไม้ ซึ่งยื่นออกมาจากสองข้างของเรือ เพื่อช่วยให้ระยะห่างระหว่างอวนทั้ง 2 ปากอยู่อย่างเหมาะสมไม่ใกล้ชิดกันมากนัก

วิธีใช้เครื่องมือ : นิยมใช้เครื่องมือนี้ทำการประมงทั้งในเวสากลางวันและกลางคืน นิยมลากตามน้ำและทวนน้ำ เมื่อถึงแหล่งทำการประมงชาวประมงจะกางคันถ่างออกทั้งสองข้างของลำเรือ โดยใช้บังคับให้เรือเดินหน้าเบาๆ พร้อมกับ ปล่อยอวนลงไปพร้อมกันทั้งสองปาก จากนั้นค่อยๆ ปล่อยเชือกลงไปเรื่อยๆ การลากนั้นใช้ระดับความยาวของสายลาก 3 - ค เท่าของความลึกของน้ำ เมื่อปล่อยสายลากตามที่ต้องการก็บังคับให้เรือเดินหน้าลากอวนต่อไป ทำการลากอวนประมาณ 1 - 2 ชั่วโมง ก็หยุดเรือดึงคานถ่างหมุนเข้าตัวเรือแล้วสาวเชือกอวนขึ้นเรือทีละปากเพื่อจับสัตว์น้ำแล้วจึงปล่อยอวนลากปลาต่อไป

ชนิดของสัตว์น้ำที่จับได้ : เป็นกุ้ง ปู และหอย สำหรับปลานั้นเกือบจะไม่พบ เลยเนื่องจากการลากอวนน้อยมาก แต่ก็ทำลายล้างทรัพยากรทะเลได้ไม่น้อยเช่นกัน

แหล่งทำการประมง : บริเวณชายทะเลน้ำตื้น


ชื่อไทย : อวนลากแคระ

ชื่ออังกฤษ : TRAWLS

ลักษณะ : จะคล้ายๆ เรืออวนลาก แต่ขนาดเล็กกว่า และทำการประมงโดยอาศัยกุ้งเป็นหลักส่วนใหญ่มีความยาวประมาณ 7 - 18 เมตร มักมีกางเขน ซึ่งเป็นไม้ยื่นออกไปทั้งสองข้างของกราบเรือและมีแผ่นตะเฆ่ด้วย

วีธีการทำประมง : จะคล้ายเรืออวนลากเดียว เพียงแต่มีขนาดเล็กกว่าเท่านั้น

ชนิดของสัตว์น้ำที่จับได้ : กุ้งและปลาหน้าดิน

แหล่งทำการประมง : บริเวณชายฝั่ง

อวนลากแผ่นตะเฆ่ทั้ง 4 ชนิดมีดังนี้


1.อวนลากปลา ส่วนใหญ่ทำการประมงในเวลากลางวัน ตั้งแต่เช้ามืดถึงพระอาทิตย์ตกดิน ปกติลากอวนนานครั้งละ 3 - 5 ชั่วโมง บางครั่ง 6 ชั่วโมง จำนวนวันทำประมงส่วนใหญ่ 7 - 25 วันต่อเที่ยว

ชนิดของสัตว์น้ำที่จับได้ : ได้แก่ ปลาทู ปลาลัง ปลาสีกุน ปลาอินทรี ปลาจวด ปลากุเรา ปลาทรายแดง ปลาปากคม ปลาตาหวาน ปูม้า ปลาเศรษฐกิจขนาดเล็กชนิดต่างๆ หมึกกล้วย และปลาเป็ด

แหล่งทำการประมง : บริเวณน้ำลึก 5 - 60 เมตรหรือมากกว่า


2. อวนลากกุ้ง ส่วนใหญ่ทำประมงในเวลากลางคืน เนื่องจากจับกุ้งขนาดเล็กได้ผลดีกว่าเวลากลางวัน แต่จะพบทำการประมงในเวลากลางวันเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะช่วงที่มีกุ้งแชบ๊วยขนาดใหญ่หรือกุ้งโอคักชุกชุม ปกติลากอวน 3 - 5 ชั่วโมงต่อครั้ง ส่วนใหญ่ทำประมงคืนเดียวและกลับเข้าฝั่งในเวลาตอนเช้า ซึ่งจะเป็นเรืออวนลากขนาดเล็ก แต่เรือขนาด 14 - 18 เมตร บางรายทำประมงประมาณ 7 - 14 วันต่อเที่ยว

ชนิดของสัตว์น้ำที่จับได้ : ได้แก่ กุ้งหิน กุ้งทราย กุ้งตาแฉะ กุ้งโอคัก กุ้งเหลืองหางฟ้า กุ้งแชบ๊วย กุ้งกุลาดำ ปลาเห็ดโคน ปลาหนวดฤาษี หมึกสาย หมึกกระดอง ปูม้า ปลาเป็ด เป็นต้น

แหล่งทำการประมง : บริเวณน้ำลึก 4 - 6 เมตร

3. อวนลากเคย ทำประมงเฉพาะเวลากลางวัน โดยสังเกตสีของน้ำทะเลที่มีฝูงเคย ซึ่งต่างไปจากบริเวณใกล้เคียง เมื่อพบฝูงเคยแล้วจึงเริ่มปล่อยอวนลาก โดยลากวนเวียนเป็นวงกลมลากอวน 2 - 3 ชั่วโมงต่อครั้ง

ชนิดของสัตว์น้ำที่จับได้ : ส่วนใหญ่ร้อยละ 95 จะได้เคย นอกนั้นเป็น ลูกกุ้ง ลูกปู และลูกปลาที่อาศัยบริเวณชายฝั่ง

แหล่งทำการประมง : บริเวณน้ำลึก 4 - 6 เมตร

4. อวนลากแมงกะพรุน ทำการประมงเฉพาะกลางวัน ในรอบวันกู้อวนเพียงครั้งเดียวแล้วแล่นกลับเข้าฝั่ง

ชนิดของสัตว์น้ำที่จับได้ : จับได้เฉพาะแมงกะพรุน

แหล่งทำการประมง : บริเวณน้ำลึกตั้งแต่ 6 - 18 เมตร

ไม่มีความคิดเห็น: